หลอดเลือดแดงแข็ง โรคหลอดเลือดแดงแข็ง ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง

หลอดเลือดแดงแข็ง ต้องระวัง! ดูแลก่อนสาย ป้องกันก่อนเสีย

หลอดเลือดแดงแข็ง คืออะไร หลอดเลือดแดงแข็ง เกิดจาก

หลอดเลือดแดงแข็ง คืออะไร ?

ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) คือผนังหลอดเลือดแดงชั้นในหนาตัวขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่มีสาร ต่าง ๆ มาเกาะ จนเกิดอักเสบ (Inflammation) ซึ่งจะนำไปสู่การบาดเจ็บของหลอดเลือดแดงชั้นใน (Endothelial Injury) หากปล่อยไว้นาน สารนั้นจะพอกตัวหนาจนกลายเป็นแผ่นแข็ง  (plaque) ประกอบด้วย ไขมัน (LDL) แคลเซียม เกล็ดเลือด และเม็ดเลือดขาว (WBC) เป็นต้น ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดแข็ง ไม่ยืดหยุ่น หลอดเลือดขยายตัวได้น้อยกว่าปกติ จนเกิดการอุดตันในหลอดเลือด หรือหลอดเลือดตีบนั้นเอง การลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ จึงไม่เพียงพอ ก่อให้เกิดโรคร้ายแรง ตามมา

โรคร้ายที่มากับ หลอดเลือดแดงแข็ง

โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
เกิดจากหลอดเลือดแดงโคโรนารี (Coronary) ที่นำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจจึงขาดเลือด จัดเป็นโรคซึ่งติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศไทยเกือบทุกปี ที่คร่าชีวิตคนไทยไปไม่น้อย

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
หรือเรียกอีกอย่างว่า โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เกิดจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองตีบตัน ทำให้เนื้อเยื่อสมองตาย และทั้งนี้อาจเกิดมาจากสาเหตุอื่นที่เป็นผลพวงจาก โรคหลอดเลือดแดงแข็ง เช่น หลอดเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral aneurysms) โรคหลอดเลือดแคโรทิดตีบ (Carotid artery disease) เป็นต้น ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อหัวใจและสมองเท่านั้น สามารถส่งผลต่อหลอดแดงทุกส่วนของร่างกาย และอาจนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ

สาเหตุที่ทำให้ หลอดเลือดแดงแข็ง

  •  อายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากความเสื่อมของหลอดเลือดที่เปลี่ยนไปตามวัย
  •  โรคความดันโลหิตสูง เนื่องจากแรงดันเลือดที่มากอาจก่อให้เกิดบาดแผลบริเวณหลอดเลือดได้
  •  ระดับไตรกลีเซอไรด์ (TG) ในเลือดสูง เป็นไขมันชนิดนึงที่ร่างกายสะสมไว้ใช้เป็นพลังงานยามจำเป็น หากสะสมมากผลที่ตามมาคือไปอุดตันตามผนังหลอดเลือด
  •  โรคเบาหวาน ก่อให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย รวมทั้งหลอดเลือดและเส้นประสาท
  •  โรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกิน เนื่องจากมีไขมันสะสมมากเกินกว่าที่ร่างกายจะเผาผลาญ นำมาซึ่ง หลอดเลือดแดงอักเสบ จนนำไปสู่ ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ในที่สุด
  •  ภาวะดื้ออินซูลิน คือร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้น้อยกว่าปกติ ทำให้ต้องใช้อินซูลินในปริมาณเพิ่มขึ้น เพื่อเก็บน้ำตาลกลูโคสเข้าเซลล์ หากเก็บได้น้อยระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดก็จะสูงขึ้น แม้จะสูงไม่มาก ก็มีผลต่อการทำลายหลอดเลือดได้เช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นภาวะก่อนเบาหวาน
  •  คอเลสเตอรอลในเลือดสูง จะไปเกาะตามผนังหลอดเลือด
  •  มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือด

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ หลอดเลือดแดงแข็ง

  •  ทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น มีคอเลสเตอรอลสูง ของทอดของมัน มีรสจัด
  •  สูบบุหรี่จัด เนื่องจากมีสารนิโคติน คาร์บอนมอนอกไซด์ รวมถึงสารดโลหะหนักและสารตกค้างอื่น ๆ ซึ่งจะดูดซึมผ่านปอดไปสะสมในเลือด
  •  ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ส่งผลต่อระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือด
  •  ขาดการออกกำลังกาย
  •  ระดับ C-reactive protein (CRP) สูง เนื่องจากเป็นโปรตีนที่ร่างกายสร้างขึ้นเมื่อเกิดการอักเสบ สามารถใช้ประเมินความเสี่ยงในการเกิด โรคหลอดเลือดแดงแข็ง ได้

จะเห็นว่าสาเหตุที่แท้จริงของการเกิด โรคหลอดเลือดแดงแข็ง คือ การอักเสบ ไม่ว่าจะเป็น ข้ออักเสบ (arthritis) โรคลูปัส (lupus) โรคลำไส้อักเสบ (IBD) และโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อการอักเสบของหลอดเลือด หรือ หลอดเลือดแดงอักเสบ ได้ทั้งสิ้น จึงนำมาซึ่งโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองในที่สุด

อาการของ ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง

โรคหลอดเลือดแดงแข็งอาการ จะขึ้นอยู่กับหลอดเลือดแดงบริเวณที่เกิดการตีบตัน ส่วนใหญ่มักเกิดที่หลอดเลือดแดงใหญ่ (aorta) และหลอดเลือดแดงกลาง (artery) ยกตัวอย่างเช่น

  •  ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ที่หัวใจ ที่ก่อให้เกิด โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease) มีอาการดังนี้
  1.  เจ็บเค้นบริเวณหน้าอก (angina) หรืออาจร้าวไปอวัยะอื่น เช่น คอ บ่า ไหล่ แขนทั้ง 2 ข้าง
  2.  เหนื่อยขณะออกกำลังกายหรือออกแรง
  3.  หน้ามืด เวียนศีรษะ เนื่องจากความดันโลหิตต่ำเฉียบพัน
  4.  หมดสติ เสียชีวิตได้
  •  ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ที่สมอง สาเหตุหนึ่งของ โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) มีอาการดังนี้
  1.  กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือมีอาการชาบริเวณใบหน้า แขน ขา รวมถึงมีอาการ ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดไม่ได้
  2.  เวียนศีรษะ มีปัญหาด้านการทรงตัว เดินเซ
  3.  เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต
  •  ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ที่ไต อาจทำให้ไตขาดเลือด ส่งผลต่อการทำงานของไต และนำไปสู่โรคไตวายเรื้อรัง (Chronic kidney disease) ในที่สุด
  •  ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ที่อวัยวะอื่น เช่น แขน ขา นำมาซึ่งโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (Peripheral Arterial Disease) จะมีอาการปวดเมื่อย ชา เนื่องจากเกิดภาวะขาดเลือด (ischemia)

แนวทางการป้องกัน โรคหลอดเลือดแดงแข็ง

  •    ทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดน้ำตาล ลดแป้งและไขมัน
  •    หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละไม่ต่ำว่า 30 นาทีเพื่อให้ร่างกายเกิดการเผาผลาญไขมันที่สะสมในร่างกายได้ดีขึ้น
  •    ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส
  •    ลดการสูบบุหรี่และจำกัดการดื่มสุรา
  •    ตรวจวัดความดันโลหิตเพื่อควบคุมระดับความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  •    ดื่มน้ำสะอาดวันละ 1-2 ลิตร

การวินิจฉัย โรคหลอดเลือดแดงแข็ง เบื้องต้น

  •  CAVI (Cardio Ankle Vascular index) เป็นเครื่องตรวจความยืดหยุ่นของหลอดเลือดแดงหัวใจ-ข้อเท้า โดยค่าตรวจปกติมี index น้อยกว่า 8 ถ้าค่า index มากกว่า 8 ขึ้นไปก็จะมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิด โรคหลอดเลือดแดงแข็ง
  •  ABI (Ankle – Brachial Index) คือการตรวจหาภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตัน โดยจะวัดความดันบริเวณแขน (Brachial Artery) และขาบริเวณข้อเท้า (Ankle) แล้วนำค่าที่ได้มาหาอัตราส่วน ABI ออกมาเป็นตัวเลข Index ซึ่งค่า Index ปกติอยู่ที่ 1.0 – 1.1 หากต่ำว่า 0.9 แสดงว่ามีการตีบตันของหลอดเลือดซึ่งการวินิจฉัยทั้งสองนี้สามารถนำไปสู่การค้นหาโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองเบื้องต้น รวมถึงโรคแทรกซ้อนอื่นที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดแข็งได้ เพื่อหาแนวทางป้องกันและรักษาได้อย่างทันท่วงที

ความเสื่อมของหลอดเลือดมักเปลี่ยนแปลงไปตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น แต่เราสามารถชะลอหรือลดความเสี่ยงของการเกิด โรคหลอดเลือดแดงแข็ง ลงได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต