ต่อมลูกหมากโต ภัยร้ายและเรื่องใกล้ตัวที่ผู้ชายต้องเจอ
สำหรับผู้ชายแล้ว เมื่ออายุที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเรื่องปกติในการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่จะค่อย ๆ ลดลง ทั้งเรื่องของร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ โดยเฉพาะความผิดปกติของต่อมลูกหมากที่ผู้ชายไทยเป็นกันจำนวนมาก ซึ่งอันดับ 1 ที่พบบ่อยคือโรคต่อมลูกหมาก 80% รองลงมาคือโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก 18% และโรคต่อมลูกหมากอักเสบ 2% ซึ่งการเข้าปรึกษาแพทย์และรีบรักษาก็จะช่วยให้อาการไม่เพิ่มความรุนแรงขึ้น
ทำความรู้จักโรคต่อมลูกหมากโต
โรคต่อมลูกหมากโต (BPH – Benign Prostate Hyperplasia) คือภาวะที่ต่อมลูกหมากมีขนาดที่ใหญ่ผิดปกติ โดยตำแหน่งของต่อมลูกหมากจะอยู่บริเวณใต้กระเพาะปัสสาวะ ทำหน้าที่สร้างสารที่เป็นของเหลวประมาณ 30% ของน้ำอสุจิ ด้วยความที่ต่อมลูกหมากห่อหุ้มท่อปัสสาวะส่วนต้นเอาไว้ จึงทำให้เมื่อเวลาที่ต่อมลูกหมากโตอาจไปกดทับท่อปัสสาวะให้ตีบเล็กลงได้ ส่งผลให้มีอาการปัสสาวะติดขัดนั่นเอง
อาการของโรคต่อมลูกหมากโต
สำหรับโรคต่อมลูกหมากโตของผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีอาการที่แตกต่างกันออกไป หากปล่อยทิ้งเอาไว้โดยที่ไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดก็จะทำให้อาการแย่ลงเรื่อย ๆ โดยอาการของโรคต่อมลูกหมากโตที่สามารถพบบ่อย ได้แก่
- ปัสสาวะบ่อย
- ตื่นขึ้นมาปัสสาวะกลางดึกบ่อย
- ปัสสาวะออกช้า
- ปัสสาวะไหลอ่อน หรือขาดสะดุด
- ปัสสาวะเล็ดหลังปัสสาวะเสร็จ
- ปัสสาวะไม่สุด
- ปัสสาวะออกยาก หรือกลั้นไม่อยู่
อาการอื่น ๆ ของผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโตที่อาจพบได้ด้วย เช่น ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะปวดแสบปวดร้อน และมีเลือดปนออกมาในปัสสาวะ เป็นต้น
โรคต่อมลูกหมากโตเกิดจากอะไร
ต่อมลูกหมากโตอยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะของผู้ชาย โดยมีท่อลำเลียงปัสสาวะอยู่กลางต่อมลูกหมาก และเมื่อไหร่ที่ต่อมลูกหมากโตขึ้นก็อาจไปเบียดจนทำให้ท่อปัสสาวะไหลออกมาไม่ได้ ซึ่งต่อมลูกหมากสามารถโตขึ้นได้ตลอดเวลา จนส่งผลทำให้เกิดอาการปัสสาวะขัดหรือปัสสาวะไม่ออกได้ ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าสาเหตุหลักของโรคต่อมลูกหมากโตคืออะไร แต่สาเหตุเบื้องต้นอาจเกิดจากฮอร์โมนเพศชายไม่มีความสมดุล โดยโรคที่ทำให้เกิดอาการคล้ายกับโรคต่อมลูกหมากโต ได้แก่
- ท่อปัสสาวะตีบ
- ต่อมลูกหมากอักเสบ
- ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
- นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- พังผืดในคอกระเพาะปัสสาวะ
- มะเร็งต่อมลูกหมาก
- ปัญหาเส้นประสาทควบคุมกระเพาะปัสสาวะ
แนวทางการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต
สำหรับการรักษาต่อมลูกหมากโตสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการรับประทานยา หรือการผ่าตัดแบบส่องกล้อง โดยวิธีที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ได้แก่ อายุของผู้ป่วย ขนาดต่อมลูกหมากสุขภาพโดยรวม หรือระดับความรุนแรงของโรค โดยวิธีการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต มีดังนี้
วิธีรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยยา
สำหรับแนวทางการรักษาโรคต่อมลูกหมากด้วยการใช้ยา แพทย์อาจจะสั่งยาบางชนิดให้ เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อในต่อมลูกหมากให้มีลักษณะอ่อนตัวลง (Alpha-Blockers) จะมีส่วนช่วยให้ขนาดต่อมลูกหมากเล็กลง แต่ถ้าในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการปัสสาวะลำบากร่วมด้วย จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน แพทย์จะรักษาด้วยยาตามความเหมาะสมของอาการแต่ละคน
วิธีรักษาโรคต่อมลูกหมากด้วยการผ่าตัด
การรักษาโรคต่อมลูกหมากด้วยการผ่าตัดส่องกล้องจะเป็นการขูดตัดเอาชิ้นเนื้อส่วนเกินออกมาจากต่อมลูกหมาก (Transurethral Resection of the Prostate-TURP) เป็นการผ่าตัดที่เอาบางส่วนของต่อมลูกหมากที่ขวางท่อทางเดินปัสสาวะออกมา โดยใช้กล้องส่องผ่านท่อปัสสาวะจากแพทย์จะใช้วิธีตัดหรือขูดต่อมลูกหมากออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ด้วยเครื่องมือแบบขวดลวดสำหรับตัดและจี้ด้วยไฟฟ้าที่มีความปลอดภัยสูง เพื่อตัดและหยุดเลือดออกพร้อมกัน
วิธีรักษาโรคต่อมลูกหมากด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ส่วนวิธีการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตวิธีสุดท้ายเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในรายที่เป็นไม่มากอาจลดการดื่มน้ำลงในช่วงเวลากลางคืน หรือลดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หากมีอาการที่ดีขึ้นแล้วอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยา หรือถ้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วไม่ดีขึ้นอาจต้องรักษาด้วยยาในลำดับต่อไป
ภาวะแทรกซ้อนหากละเลยการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต
หากผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายเป็นโรคต่อมลูกหมากโต หรือผ่านการตรวจวินิจฉัยที่แน่นอนแล้ว แต่ยังคงละเลยการรักษาหรือไม่ได้มีการติดตามอาการอย่างต่อเนื่องจะสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้น มีดังนี้
- ปัสสาวะเป็นเลือดจากต่อมลูกหมากบวม
- ปัสสาวะไม่ออกในทันที
- การทำงานของไตเสื่อมลงและอาจไตวายได้
- กระเพาะปัสสาวะคราก หรือมีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่
สำหรับผู้ที่มีอาการเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่อมลูกหมากโต ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เมื่อเริ่มพบว่ามีปัญหาเรื่องการปัสสาวะหรือมีอาการอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่อมลูกหมากโต และถึงแม้ว่าจะยังมีอาการที่ไม่รุนแรงมากนัก แต่โรคต่อมลูกหมากโตยังส่งผลทำให้ทางเดินปัสสาวะอุดตันได้ ดังนั้น หากเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะก็ควรที่จะรีบไปพบแพทย์ในทันที
สรุปโรคต่อมลูกหมากโต
สุดท้ายนี้ สิ่งที่แพทย์มักเน้นย้ำมาตลอดสำหรับผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป คือการเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจต่อมลูกหมากเป็นประจำทุกปี หรือถ้าหากพบถึงความผิดปกติระหว่างการปัสสาวะก็ควรที่จะรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาตั้งแต่ต้น สิ่งสำคัญอย่าละเลยการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันและมาพบแพทย์ตามนัดหมายตลอด เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน พร้อมทำให้การรักษามีประสิทธิภาพและมีสุขภาพที่ดีได้
Leave a reply
Leave a reply