ทำความเข้าใจกับโรคกินไม่หยุดคืออะไร

โรคกินไม่หยุด เป็นโรคที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักและไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าไหร่นัก เพราะมองว่า การได้กินอาหารที่ชอบนั้นคือความสุข หรือเป็นเพียงแค่ความรู้สึกอยากอาหาร แต่ในความเป็นจริงแล้วอาการเหล่านี้อาจเป็นโรคที่คุณกำลังเผชิญอยู่โดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ และหากปล่อยไว้ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงตามมาได้อีกด้วย ในบทความนี้ Trin Wellness จึงจะพาคุณมาทำความรู้จักกับโรคกินไม่หยุด เพื่อให้คุณเข้าใจภาวะนี้มากยิ่งขึ้น และเริ่มหันมาสำรวจพฤติกรรมของตัวเอง

โรคกินไม่หยุดคืออะไร

โรคกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder) เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารในปริมาณที่มากผิดปกติ ซึ่งผู้ป่วยจะไม่สามารถคุมตัวเองได้ แม้จะไม่รู้สึกหิวแต่ก็จะรู้สึกอยากทานอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ เวลาที่ได้ทานก็จะทานจนอิ่มมาก ๆ หรือทานจนไม่สามารถทานอาหารอื่นต่อได้ แล้วหลังจากนั้นจะรู้สึกโกรธตัวเองที่ทำพฤติกรรมแบบนั้น ซึ่งโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัยโดยไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด

โรคกินไม่หยุดเกิดจากอะไรแบบไหนที่เข้าข่าย

แม้ว่าจะยังไม่สามารถทราบสาเหตุของโรคกินไม่หยุดที่แน่ชัด แต่ก็พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดโรคกินไม่หยุดนี้ได้ ดังนี้

  • ปัจจัยด้านจิตใจ: อาจเกิดเหตุการณ์ที่กระทบความรู้สึก เช่น เคยถูกทำร้าย สูญเสียบุคคลรอบตัว หรือความผิดหวังจากการลดน้ำหนัก และความวิตกกังวลในรูปร่างของตนเอง
  • ปัจจัยความเสี่ยงจากโรค: มักจะพบในผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือคนในครอบครัวที่เคยเป็นโรคกินไม่หยุดและโรคทางจิตเวชอื่น ๆ เช่น โรคไบโพลาร์ โรคซึมเศร้า เป็นต้น 

อาการของโรคกินไม่หยุด

  • รับประทานอาหารมากกว่าปกติแม้ไม่รู้สึกหิว
  • หยุดรับประทานไม่ได้แม้จะรู้สึกอิ่มแล้วก็ตาม
  • รับประทานอาหารปริมาณมาก ๆ อย่างรวดเร็ว
  • มีอาการข้างต้นตั้งแต่ 1-3 สัปดาห์ขึ้นไป
  • เกิดความรู้สึกผิด เศร้า โกรธ อาย รังเกียจ หรือโทษตัวเองที่รับประทานมากเกินไป

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคกินไม่หยุด

หากคุณเป็นโรคกินไม่หยุด ไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลให้คุณมีปัญหาสุขภาพหรือเกิดโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตตามมาได้ โดยภาวะแทรกซ้อนจากโรคกินไม่หยุดมีดังนี้

  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย
  • ภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน
  • เบาหวานชนิดที่ 2
  • ภาวะคอลเลสเตอรอลสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง
  • อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ไข่ไม่ตก และทำให้ตั้งครรภ์ได้ยากขึ้น
  • ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น ท้องอืด อาหารไม่ย่อย กรดไหลย้อน ท้องร่วง เป็นต้น
  • ภาวะทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล

แนวทางการรักษาโรคกินไม่หยุด

สำหรับแนวทางในการรักษาโรคกินไม่หยุดนั้น แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยจะรักษาด้วยการปรับพฤติกรรม ร่วมกับการใช้ยารักษาตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งการจะรักษาให้หายขาดนั้น ต้องอาศัยเวลาในการปรับเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ระยะเวลา วิธีรักษา และยาที่ให้จะมีความแตกต่างกันไปตามปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค หรือปัญหาสุขภาพที่เผชิญอยู่ด้วยเช่นกัน

สรุปเรื่องโรคกินไม่หยุด

โรคกินไม่หยุดถือเป็นโรคที่ไม่ได้มีความรุนแรง แต่หากปล่อยไว้จนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา ก็อาจจะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ สำหรับคนที่ไม่มั่นใจว่าตนเองเป็นโรคกินไม่หยุดหรือไม่ ก็ควรจะสังเกตพฤติกรรมการทานอาหารของตนเอง หรือให้คนรอบข้างช่วยสังเกต เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการพูดคุยและสอบถามกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แล้วทำการรักษาต่อไป

Leave a reply