รู้จักโลหะหนัก ภัยเงียบอันตรายกว่าที่คิด
โลหะหนักภัยเงียบต่อร่างกายที่หลาย ๆ คนอาจมองข้ามไป เพราะร่างกายของเราได้รับสารพิษเข้าไปสะสมโดยไม่รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา โลหะหนักในร่างกายเกิดจากการสะสมของโลหะบางชนิด หากเมื่อใดที่มีการสะสมอยู่ในปริมาณมาก จนส่งผลเสียต่อสุขภาพ ก็จะทำให้เกิดโรคและอาการที่ไม่พึงประสงค์ตามมา ซึ่งในบทความนี้จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับโลหะหนักกันให้มากขึ้นกัน พร้อมกับไขข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับโลหะหนักที่ค้างคาใจหลายคนอยู่ ไปดูพร้อมกันเลย
โลหะหนักคืออะไร
โลหะหนัก (Heavy Metal) คือ โลหะที่มีความถ่วงจำเพาะมากกว่าน้ำ 5 เท่าขึ้นไป อาทิเช่น ปรอท สังกะสี สารหนู ตะกั่ว อะลูมิเนียม โดยสารต่าง ๆ จะสลายตัวได้ช้ามาก และปนอยู่กับสิ่งแวดล้อมมานานแล้ว ทำให้หลาย ๆ คนรับสารนี้เข้ามาในร่างกาย โดยไม่ทันได้ระวังตัว เมื่อเข้ามายังร่างกายของเราแล้วจะเกิดการสะสมเป็นอนุมูลอิสระ (Free radical) และสารออกซิแดนท์ (Oxidant) โดยจะทำให้เซลล์เกิดความเสื่อมสภาพ
หากสารพิษนี้สะสมอยู่ในร่างกายปริมาณมาก จะเกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง อาเจียน คลื่นไส้ ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม มีความรู้สึกเหมือนโดนเข็มทิ่มตามมือและตามเท้าอยู่ตลอด ซึ่งโลหะหนักเหล่านี้ จะมีผลไม่ต่างอะไรกับการเร่งอายุของอวัยวะภายในร่างกายให้มีความเสื่อมเร็วกว่าที่ควรจะเป็น
แต่ก็เป็นที่น่าดีใจเพราะในปัจจุบันสามารถตรวจวัดระดับสารโลหะหนักนี้ในร่างกายได้แล้ว แถมยังมีวิธีกำจัดโลหะหนักเหล่านี้ออกจากร่างกายได้อีกด้วยล่ะ
โลหะหนักเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร
สารโลหะหนักโดยส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในอาหาร อากาศ และน้ำเป็นส่วนใหญ่ โดยเรารับสารนี้เข้ามาในร่างกายทางสัตว์น้ำ และพืชน้ำ เป็นส่วนใหญ่ เช่น สัตว์น้ำจำพวก กุ้ง หอย ปู ปลา หรือแม้แต่ผักผลไม้ โดยเป็นวัฏจักรจากการกินตามห่วงโซ่อาหาร จึงพบสารโลหะหนักนี้ได้บ่อยจากการปนเปื้อนอาหารในชีวิตประจำวันของเรา
สำหรับโลหะหนักที่พบได้บ่อยที่สุดนั้น คือ ดีบุก สารหนู ตะกั่ว สังกะสี ปรอท เนื่องจากใช้เวลานานกว่าจะมีการสลายตัว จึงเกิดการสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรานาน จะสามารถก่อพิษกับร่างกายได้แบบเฉียบพลัน จนถึงขั้นเรื้อรังได้ โดยที่ไม่รู้ตัวมากก่อน ซึ่งสารนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายรูปแบบดังต่อไปนี้
- การสูดดมผงฝุ่นที่มีส่วนผสมของสารพิษนี้บางชนิดหรือสูดดมควันบุหรี่
- การสัมผัสและการดูดซึมเข้าสู่ผิวหนัง จากการทำงานในโรงงานที่ใช้สารนี้เป็นวัตถุดิบ หรือในเครื่องสำอางบางชนิดจะมีการใส่สารนี้เข้าไปเป็นส่วนผสม
- การรับประทานอาหารโดยเฉพาะปลา ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำหรือทะเลที่มีสารปรอทสูงเกินไป หรือตัวยาสมุนไพรที่มีการเจือปนของสารพิษนี้ อีกทั้งยังรวมไปถึงการดื่มน้ำที่ปนเปื้อนสารพิษเหล่านี้ด้วย
วิธีรักษาภาวะพิษจากโลหะหนัก
ในเบื้องต้นแล้วแพทย์จะแนะนำให้คนไข้ตรวจปัสสาวะหรือตรวจเลือดก่อน เป็นการทดสอบว่าเกิดจากสารพิษโลหะหนักใช่หรือไม่ หากตรวจแล้วพบว่ามีสาเหตุมาจากโลหะหนัก ทางแพทย์จะเริ่มทำการรักษาในขั้นตอนแรกโดยทันที โดยแพทย์จะมีวิธีกำจัดสารพิษในหลอดเลือด โดยใช้สารคีเลชั่น (Chelating Agents) เพื่อดักจับกับโลหะหนักเหล่านี้ออก และร่างกายจะสามารถขับออกมาทางปัสสาวะได้ตามกลไกธรรมชาติ
มักนิยมใช้ในการดูดซับสิ่งต่าง ๆ ในกระเพาะอาหารออก เพื่อกำจัดโลหะหนักที่คนไข้ได้กลืนเข้าไปในร่างกาย ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการวัดความดันภายในกะโหลกศีรษะ เพื่อตรวจสอบอาการบวมของสมองผู้ป่วย อีกทั้งยังมีการฟอกเลือดร่วมด้วย และยังมีการรักษาในกรณีหากเกิดไตวาย แต่จะเป็นวิธีการรักษาแบบประคองอาการไปก่อน เพื่อตรวจสอบและรักษาผลที่ตามมาหลังอวัยวะต่าง ๆ ได้ทำงานผิดปกติไปจากเดิม
แนวทางป้องกันโลหะหนัก
แนวทางการป้องกันโลหะหนักให้มีสุขภาพที่ดีเริ่มต้นได้ไม่ยาก เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตก่อนเป็นสิ่งแรก และปฏิบัติตามข้อแนะนำต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อป้องกันสารพิษโลหะหนักเข้ามาสู่ร่างกาย รวมไปถึงจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงตามมา เริ่มจากการป้องกันที่ทำได้ง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
- สวมหน้ากากอนามัยและเสื้อผ้ากันสารพิษ เมื่อต้องอยู่ในสภาพอากาศหรือพื้นที่ที่มีฝุ่นควันเยอะ เพราะมีความเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับโลหะหนักได้สูง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเมนูซ้ำ ๆ เดิม หรือ จากแหล่งเดิม เช่น ผลไม้ ปลา ผัก เพราะมีความเสี่ยงที่จะได้รับสารพิษชนิดเดิม ๆ เข้าไปในร่างกาย แล้วเกิดการสะสมได้
- ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะการตรวจโลหะหนัก ถ้าหากว่าเกินเกณฑ์จะมีการรักษาในขั้นตอนต่อไป เพื่อช่วยให้ขับโลหะหนักออกได้ปลอดภัยและเหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะส่วนใหญ่แล้วจะมีส่วนผสมของปรอทอยู่ ทำให้อันตรายต่อผิวหนัง โดยเฉพาะครีมที่อ้างสรรพคุณว่าผิวขาวได้ไว โฆษณาชวนเชื่อเกินจริง
- ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ เพราะอาจมีสารพิษหลายชนิดที่ปะปนอยู่ในอากาศและสิ่งสกปรกรอบตัว
- หลีกเลี่ยงอาหารเสริม ยา หรือสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะมีความเสี่ยงสูงที่โลหะหนักจะปนเปื้อนอยู่
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแบตเตอรี่ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสื่อมสภาพการใช้งาน เนื่องจากอาจมีสารพิษรั่วซึมออกมาโดนผิวหนังและสูดดมเข้าไปโดยไม่รู้ตัว
- หากบ้านที่อยู่อาศัยเป็นบ้านเก่า ที่สร้างก่อนปี พ.ศ. 2521 หรือ ปี ค.ศ. 1978 แนะนำให้มีการปรับปรุง เนื่องจากในช่วงปีดังกล่าว มีการใช้สีทาบ้านที่มีส่วนผสมของสารตะกั่ว หากมีการสูดดมเป็นระยะเวลานาน อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้
สรุปบทความ
โลหะหนักเป็นภัยเงียบที่อันตรายต่อร่างกาย ไม่ควรมองข้ามแต่อย่างใด หากได้รับสารพิษนี้เข้าไปในร่างกายไม่ว่าจะด้วยวิธีการสูดดม การสัมผัส หรือแม้แต่การรับประทานอาหารเข้าไป โดยที่ไม่ได้คาดคิดว่าจะมีสารเหล่านี้อยู่ จะก่อให้เกิดโรคร้ายและอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงต่อร่างกายได้ ดังนั้นจะต้องรู้วิธีการป้องกันตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย และมีสุขภาพที่แข็งแรง แต่หากท่านใดที่อยากทราบว่าร่างกายเรามีโลหะหนักเยอะหรือไม่ ตลอดจนอยากกำจัดสารพิษดังกล่าว ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ล้ำสมัยมากยิ่งขึ้น สามารถป้องกันพิษของโลหะหนักได้ตั้งแต่ระดับที่ยังไม่เกิดโรค ด้วยวิธีกำจัดสารพิษในหลอดเลือด โดยการทำคีเลชั่นบำบัด (Chelation) ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัย และช่วยให้เราห่างไกลจากพิษของโลหะหนักได้นั่นเอง
Leave a reply
Leave a reply