รู้ทันภาวะความดันสูง เกิดขึ้นได้อย่างไรพร้อมวิธีดูแลตัวเอง

ภาวะความดันสูงคือหนึ่งในภัยร้ายที่น่ากลัวสำหรับพวกเราทุกคน เพราะถือเป็นอาการแรกเริ่มที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบไหลเวียนโลหิตและหัวใจ ซึ่งเป็นระบบที่มีความสำคัญต่อร่างกายมากที่สุด ที่สำคัญภาวะความดันฃสูงแทบไม่แสดงออกถึงอาการที่ผิดแปลกไปจากชีวิตประจำวันมากนัก แต่ไม่ต้องตกใจไปเพราะภาวะความดันสูงทุกคนป้องกันได้ด้วยตัวเอง และสามารถรักษาให้หายได้หากมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้มีวินัยมากพอ วันนี้ Trin Wellness จะมาอธิบายให้คุณได้เข้าใจถึงที่มาของภาวะความดันสูงเกิดจากอะไร และมีแนวทางในการป้องกันได้อย่างไรบ้าง

ภาวะความดันสูงคืออะไร?

โดยปกติแล้วค่าความดันโลหิตที่ปกติของคนเราควรอยู่ที่ 120/80 มิลลิเมตรปรอทขึ้น แต่ต้องไม่เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท หากพบว่าค่าความดันโลหิตเกินค่ามาตรฐานไปมากกว่านี้ถือว่าเข้าข่ายภาวะความดันสูง สำหรับผู้ที่มีค่าความดันโลหิตในระหว่าง 121/80-139/89 มิลลิเมตรปรอท ยังไม่ถือว่าส่งผลกระทบต่อร่างกายแต่มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะเสี่ยงขึ้นได้จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังด้วยเช่นกัน
อาการที่บ่งชี้ถึงภาวะความดันสูง โดยส่วนใหญ่จะพบว่าอาการในช่วงตื่นนอนทั้งปวดหัวช่วงท้ายทอย มึนงง และตาพร่ามัว ในเวลาปกติอาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก และมักจะนอนไม่ค่อยหลับ หากพบอาการเหล่านี้แนะนำว่าควรได้รับการตรวจเช็กสุขภาพเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ภายในตัวคุณ

ปัจจัยที่ทำให้ความดันสูง

  • น้ำหนักตัวเกินมาตรฐานและมีภาวะไขมันในเลือดสูง (คอเลสเตอรอล)
  • มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่จัดและดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ปัจจัยที่เกี่ยวกับอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุระหว่าง 40-60 ปีขึ้นไป
  • ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน
  • กรรมพันธุ์จากคนในครอบครัว

ผู้ที่มีอารมณ์รุนแรง อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ผู้ที่มีภาวะเครียด ตื่นตระหนก ตกใจง่าย เสียใจและดีใจสุดขีด โดยช่วงที่อารมณ์เปลี่ยนในระยะแรกความดันโลหิตจะสูงขึ้นชั่วคราวและค่อย ๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป แต่ถ้าหากยังขึ้นสูงอยู่เรื่อย ๆ อาจเสี่ยงต่อภาวะความดันสูง

ปริมาณค่าความดันโลหิต

  • ความดันโลหิตที่ดี ควรมีความดันโลหิตตัวบนต่ำกว่า 120 (มม.ปรอท) และความดันโลหิตตัวล่างต่ำกว่า 80 (มม.ปรอท)
  • ความดันโลหิตปกติ ควรมีความดันโลหิตตัวบน 120-129 (มม.ปรอท) และความดันโลหิตตัวล่าง 80-84 (มม.ปรอท)
  • ความดันโลหิตค่อนข้างสูง ควรมีความดันโลหิตตัวบน 130-139 (มม.ปรอท) และความดันโลหิตตัวล่าง 85-89 (มม.ปรอท)
  • ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย (ระยะที่ 1) ควรมีความดันโลหิตตัวบน 140-159 (มม.ปรอท) และความดันโลหิตตัวล่าง 90-99 (มม.ปรอท)
  • ความดันโลหิตสูงปานกลาง (ระยะที่ 2) ควรมีความดันโลหิตตัวบน 160-179 (มม.ปรอท) และความดันโลหิตตัวล่าง 100-109 (มม.ปรอท)
  • ความดันโลหิตสูงมาก (ระยะที่ 3) ควรมีความดันโลหิตตัวบนตั้งแต่ 180 ขึ้นไป (มม.ปรอท) และความดันโลหิตตัวล่างตั้งแต่ 110 ขึ้นไป (มม.ปรอท)

อาการภาวะความดันสูง

สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะความดันสูง โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่แสดงอาการ แต่ในบางรายอาจมีอาการเวียนหัว ปวดหัว และเหนื่อยง่ายผิดปกติ หากมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นเวลานานแล้วไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลทำให้อวัยวะสำคัญต่าง ๆ ในร่างกายถูกทำลายได้ เช่น สมอง หัวใจ ไต หลอดเลือด และตา เนื่องจากภาวะความดันโลหิตสูงจะทำให้หลอดเลือกแดงเกิดความหนาตัวขึ้นและรูเล็กลง ทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ได้น้อยลง ส่งผลให้อวัยวะเหล่านั้นไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และหากถึงขั้นร้ายแรงก็อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากความดันสูง

  • หลอดเลือดแดง ส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ไม่เพียงพอ
  • หัวใจ ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เกิดภาวะต่าง ๆ ตามมาเช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนา ผนังกล้ามเนื้อหัวใจไม่แข็งแรง หลอดเลือดหัวใจหนาขึ้น ทำให้หัวใจเสี่ยงต่อการขาดเลือด
  • สมอง เสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดในสมองตีบ ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต
  • ไต ทำให้กล้ามเนื้อไตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกรอกของเสียเสื่อมก่อนเวลาอันควร และเสี่ยงต่อภาวะไตวายเฉียบพลัน
  • ตา อาจทำให้หลอดเลือดในตาแตกได้ ส่งผลให้ประสาทตาเสื่อม เกิดอาการตามัว และอาจทำให้ตาบอดได้ในอนาคต

แนวทางการป้องกันภาวะความดันสูง

การป้องกันภาวะความดันสูงนั้นคือสิ่งที่คุณสามารถเริ่มต้นได้ด้วยตัวคุณเอง จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่ไล่ตั้งแต่การทานอาหาร การออกกำลังกาย ไปจนถึงการพักผ่อน ซึ่งปัจจัยทั้งหมดสามารถช่วยให้ผู้ที่มีความดันสูงกลับมาอยู่ในภาวะปกติได้ และยังช่วยป้องกันสำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าข่าย โดยสามารถปฏิบัติได้ดังนี้

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานเลี่ยงอาหารรสจัด งดการกินเค็มจัดเพราะโซเดียมที่สูงเกินไปมีผลทำให้ผนังหลอดเลือดแดงตึงเกินไป ลดการกินรสหวานจัด ขนมหวานทุกชนิด อาหารที่ใช้ไขมันจากสัตว์ อาหารที่มีกะทิ และอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวมาก เพราะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ระดับไขมันในเลือดสูง ส่วนอาหารประเภทโปรตีนอย่างเนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่ว ยังสามารถทานได้ตามปกติเพียงแค่ลดการทานเนื้อส่วนที่มีชั้นไขมันเยอะ สำหรับผู้ที่ทานผักน้อยควรหันมาทานให้มากขึ้นควบคู่กับผลไม้เพื่อให้ร่างกายได้สารอาหารและแร่ธาตุจำเป็นครบ 5 หมู่
  • ลดการดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่ 2 สิ่งนี้คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความดันสูง โดยแอลกอฮอล์ที่อยู่ในเหล้าและเบียร์ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดเร็วและแรงขึ้นจนทำให้หัวใจทำงานหนักมากกว่าปกติ และนิโคตินในบุหรี่มีส่วนทำให้หลอดเลือดหัวใจหดเกร็ง จนทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควรวางแผนการออกกำลังกายอย่างน้อย 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยแต่ละครั้งควรใช้เวลาให้ไปประมาณ 30-60 นาที ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายแบบเบา ๆ อย่างการเดินเร็ว หรือการออกกำลังกายหนักอย่าง Weight Training ก็ตาม จึงจะช่วยให้ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานได้อย่างเต็มที่ และช่วยลดไขมันส่วนเกินที่อยู่ในร่างกายและในผนังหลอดเลือด

สรุปเกี่ยวกับภาวะความดันสูง

ภาวะความดันโลหิตสูงป้องกันได้หากคุณใส่ใจดูแลตัวเองจากกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ อย่างมีวินัยทั้งอาหารการกิน การออกกำลังกาย และการพักผ่อน ทั้งหมดล้วนสัมพันธ์กันและช่วยให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้น ควรได้รับการตรวจร่างกายและตรวจไขมันในเลือดเป็นประจำทุกปี เพราะระบบเผาผลาญและการเซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกายอาจเริ่มทำงานได้ไม่เต็มที่เท่าวัยหนุ่มก่อน 30 ปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลร่างกายและการตรวจเช็กสุขภาพกับ Trin Wellness ได้ตามเว็บไซต์หรือโทร 0972655994 ได้ทันที

Leave a reply