รวมเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ “เส้นเลือดสมองตีบ” ภาวะเสี่ยงที่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด

เมื่อพูดถึงโรคเส้นเลือดสมองตีบ เชื่อว่าหลายคนคงจะรู้กันดีว่าเป็นโรคที่อันตราย เมื่อเกิดขึ้นแล้วสามารถทำให้เกิดอาการชาครึ่งซีก อัมพฤกษ์ อัมพาต ตามองไม่เห็น เสียการรับรู้ความรู้สึก การเคลื่อนไหวร่างกาย และการทรงตัว หรือทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม เราสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ได้หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

เพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถรับมือกับโรคเส้นเลือดสมองตีบได้ดีขึ้น ในบทความนี้ ดร. ตฤณ เวลเนส คลินิก จะพาไปทำความรู้จักกับโรคเส้นเลือดในสมองตีบอย่างละเอียด ใครที่อยากรู้ว่าเส้นเลือดในสมองตีบ คืออะไร เกิดจากสาเหตุใด มีลักษณะอาการอย่างไร หาคำตอบได้เลยที่บทความนี้

เส้นเลือดสมองตีบคืออะไร?

โรคเส้นเลือดสมองตีบ (Ischemic Stroke) คือ หนึ่งในภาวะของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากการที่มีไขมันไปสะสมอยู่ที่หลอดเลือดสมองจนทำให้ผนังหลอดเลือดมีความหนามากขึ้น เกิดการตีบ หรืออุดตัน และทำให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้ไม่เพียงพอ จนส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามมา

ลักษณะอาการของเส้นเลือดสมองตีบ

เมื่อเส้นเลือดในสมองเกิดการตีบ แตก หรืออุดตัน จะทำให้เกิดอาการผิดปกติ ดังนี้

  • ใบหน้าอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด หลับตาไม่สนิท หรือชาที่ใบหน้า
  • แขนขาอ่อนแรงและชาเฉียบพลัน โดยมักเป็นที่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย
  • พูดลำบาก พูดไม่ออก พูดไม่ชัด หรือฟังไม่เข้าใจ
  • สายตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน หรือมองไม่เห็น
  • มีอาการปวดศีรษะรุนแรงเฉียบพลัน โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ระดับความรู้สึกตัวเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ซึมลง หรือเรียกไม่รู้ตัว
  • มีอาการบ้านหมุน[a] เวียนศีรษะ เดินเซ เดินลำบาก หรือทรงตัวไม่ดีอย่างเฉียบพลัน

สาเหตุของเส้นเลือดสมองตีบ

โรคเส้นเลือดสมองตีบเกิดจากหลอดเลือดสมองตีบแคบ หรืออุดตันจนทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ไขมันสะสมอยู่ในหลอดเลือด มีการฉีกของผนังหลอดเลือดด้านใน หรือมีลิ่มเลือดขนาดเล็กที่แข็งตัวและเกาะอยู่ที่ผนังหัวใจและลิ้นหัวใจหลุดลอยตามกระแสเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดในสมอง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเส้นเลือดสมองตีบ

ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคเส้นเลือดสมองตีบ มีดังนี้

  • ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นเส้นเลือดในสมองตีบ
  • ผู้สูงอายุ

การวินิจฉัยเส้นเลือดสมองตีบ

สำหรับใครที่สงสัยว่าตัวเองเสี่ยงเป็นโรคเส้นเลือดสมองตีบไหม สามารถไปพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามอาการได้ โดยการตรวจวินิจฉัยโรคเส้นเลือดสมองตีบ แพทย์จะซักประวัติอาการของผู้ป่วย ตรวจร่างกายเบื้องต้น ร่วมกับตรวจทางห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ดังนี้

  • ตรวจระดับน้ำตาล คอเลสเตอรอล และตรวจไขมันในเลือด
  • ตรวจหลอดเลือดใหญ่ที่คอด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Carotid Ultrasound)
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ  (Electrocardiogram : EKG)
  • ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
  • ตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)

แนวทางการรักษาเส้นเลือดสมองตีบ

หลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ แพทย์จะวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม โดยประเมินจากความรุนแรงและระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการ โดยวิธีการรักษาเส้นเลือดสมองตีบ มีดังนี้

  • ให้ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน (Aspirin) พราซูเกรล (Prasugrel) หรือ โคลพิโดเกรล (Clopidogrel) ซึ่งจะช่วยลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือด และป้องกันการอุดตันในหลอดเลือดและหัวใจได้ มักใช้ในกลุ่มผู้ที่มีอาการเส้นเลือดในสมองตีบในระยะเริ่มต้น
  • จ่ายยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ เพื่อละลายลิ่มเลือดที่ปิดกั้นหลอดเลือดอยู่ออก ช่วยให้เลือดกลับไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น
  • ใส่สายสวนลากลิ่มเลือดออกมา จะทำในกรณีที่เส้นเลือดที่ตีบเป็นเส้นเลือดใหญ่ โดยแพทย์จะเปิดรูของหลอดเลือดแดงใหญ่โดยไม่ต้องผ่าตัด แล้วใส่สายสวนพร้อมขดลวดที่มีขาหนีบเข้าไปจนถึงจุดที่อุดตัน และดึงเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกมา
  • การผ่าตัดต่าง ๆ เช่น การผ่าตัดเปิดกะโหลก การผ่าตัดเพื่อเปิดหลอดเลือดแดงที่บริเวณคอ หรือการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและขดลวด เป็นต้น

สรุปเรื่องเส้นเลือดสมองตีบ

จะเห็นได้ว่า เราสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้โดยการตรวจสุขภาพร่างกายและหลอดเลือดอยู่เสมอ ร่วมกับรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพราะถ้าหากตรวจพบว่าเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบก็จะได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ช่วยให้ไม่เกิดการตีบมากจนนำไปสู่การอุดตัน

หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเส้นเลือดสมองตีบ เราขอแนะนำให้เข้ารับการตรวจสุขภาพเส้นเลือดเป็นประจำ โดยที่ ดร. ตฤณ เวลเนส คลินิก เรามีบริการตรวจวัดความแข็งตัวของหลอดเลือด (Ankle Brachial Index : ABI) ซึ่งเป็นการตรวจเบื้องต้นที่สามารถนำไปสู่การค้นหาโรคสำคัญอย่างโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมองตีบได้ หากสนใจ สามารถนัดหมายเข้ามาใช้บริการที่คลินิกได้เลย!

Leave a reply