รู้ทันโรคข้อเข่าเสื่อม พร้อมแนวทางป้องกันโดยแพทยผู้เชี่ยวชาญ
หลายคนอาจมองว่าผู้สูงวัยทุกรายย่อมต้องเผชิญกับภาวะเสื่อมสภาพจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอาการเข่าเสื่อมที่มักจะมีปัญหาจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้เลยทีเดียว แต่คุณรู้หรือไม่ว่าในปัจจุบันโรคข้อเข่าเสื่อมไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผู้สูงวัยอีกต่อไป เพราะด้วยพฤติกรรมและกิจกรรมต่าง ๆ ของพวกเราทุกล้วนส่งผลให้โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดเร็วมากขึ้นในวัยเพียง 45 ปีเท่านั้น วันนี้ Trin Wellness จะมาอธิบายให้คุณได้เข้าใจกันมากขึ้นว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้คนเราเข่าเสื่อมเร็ว พร้อมแนะนำแนวทางในการดูแลรักษาตัวเอาให้มีสุขภาพข้อเข่าที่ดีสมวัย
โรคข้อเข่าเสื่อมคืออะไร
โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) คือภาวะที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนผิวข้อเข่า โดยปกติจะคอยทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมการเคลื่อนไหวของข้อเข่าให้คล่องตัวไม่ติดขัด และเป็นส่วนที่รองรับน้ำหนักของร่างกาย ซึ่งภาวะนี้จะส่งผลกระทบให้กระดูกอ่อนผิวข้อเข่าและเยื่อหุ้มข้อเกิดการอักเสบ สามารถสร้างน้ำในไขข้อเข่าได้น้อยลง จนทำให้เกิดเกิดอาการปวด บวม และทำให้ข้อติดขยับได้ไม่เหมือนเดิม หากปล่อยไว้นาน ๆ จะทำให้หัวเข่าผิดรูปส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก
สาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากอะไร
โรคข้อเข่าเสื่อมนั้นสามารถแบ่งสาเหตุของโรคได้ทั้งหมด 2 ประเภทดังนี้
1. ความเสื่อมแบบปฐมภูมิ (Primary Knee Osteoarthritis)
เป็นภาวะเข่าเสื่อมที่เกิดขึ้นตามวัยและมาจากปัจจัยตามธรรมชาติของแต่ละบุคคล เช่น
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น มีผลทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อเข่า กล้ามเนื้อ และเส้นประสาทชนิดต่าง ๆ เสื่อมสภาพลงตามวัย โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ก็จะเริ่มมีอาการปวดเข่ารบกวนอยู่บ่อย ๆ และเมื่อถึงอายุ 60 ปีขึ้นไปก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
- เพศ โดยเฉพาะเพศหญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชาย เพราะในวัยหมดประจำเดือนผู้หญิงจะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ช่วยป้องกันความเสื่อมของข้อเข่า เมื่อขาดฮอร์โมนตัวนี้ไปก็จะทำให้เข่าเสื่อมได้อย่างรวดเร็ว
- น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ส่งผลต่อความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อเข่าโดยตรง เพราะต้องรับแรงกระแทกมากกว่าปกติ รวมไปถึงปริมาณไขมันในร่างกายที่มากเกินไปจะส่งผลให้เซลล์กระดูกและกระดูกอ่อนเสื่อมเร็วขึ้นอีกด้วย
ปัจจัยการใช้งานเข่า ไม่ว่าจะเป็นการยืนเป็นเวลานาน การขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ การยกของหนัก การคุกเข่า การนั่งพับเพียบ เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เข่าใช้งานแบบผิดรูปจึงส่งผลต่อความเสื่อมของเข่าได้ในอนาคต
2. ความเสื่อมแบบทุติยภูมิ (Secondary Knee Osteoarthritis)
เป็นสาเหตุที่เกิดมาจากปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือจากตัวคุณเองทั้งโรคบางชนิด อย่างโรคเกาต์ โรคข้ออักเสบ และโรคที่เกี่ยวกับข้อเข่า อีกปัจจัยก็คือเรื่องของอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการกระแทกอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการเข่าเสื่อมได้ก่อนเวลาอันควร
ลักษณะอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมเบื้องต้น
โรคข้อเข่าเสื่อมอาการที่แสดงออกจะมีค่อนข้างหลากหลายรูปแบบ สามารถสังเกตอาการและรับรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยมีอาการดังนี้
- มีเสียงดังกรอบแกรบเวลาใช้งาน
- มีอาการปวดเข่าเป็นระยะ
- ข้อเข่าฝืด ตึงและแข็ง
- เกิดการบวมตึงและกดเจ็บ
- ข้อเข่าผิดรูป และข้อเข่าโก่ง
ระยะของโรคข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อมสามารถแบ่งอาการได้ทั้งหมด 4 ระยะด้วยกันดังนี้
- ระยะที่ 1 ยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ
- ระยะที่ 2 ใช้งานหนักไม่ได้ เช่น ยกของหนัก หรือเดินทางไกล
- ระยะที่ 3 ทำกิจวัตรประจำวันบางอย่างไม่ได้
- ระยะที่ 4 เดินไม่ไหวต้องได้รับการช่วยเหลือ
ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
- ผู้ที่มีอายุมาก มักพบในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป
- น้ำหนักตัวมากเกินกว่าเกณฑ์ (โรคอ้วน หรือภาวะน้ำหนักเกิน)
- ใช้งานข้อเข่าอย่างหนักและต่อเนื่องมายาวนาน
- เคยเกิดอุบัติเหตุบริเวณข้อเข่า
- เกิดโรคข้ออักเสบชนิดอื่น ๆ เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าต์ เป็นต้น
- กล้ามเนื้อตนขาไม่แข็งแรง
แนวทางการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
โรคข้อเข่าเสื่อมรักษาได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่แนะนำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแต่ละวิธีก็จะเหมาะกับลักษณะอาการที่แตกต่างกันออกไป
1.ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
เป็นวิธีที่เริ่มต้นจากตัวผู้รักษาเอง นั่นคือการปรับพฤติกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยเริ่มตั้งแต่การควบคุมน้ำหนักจากอาหาร ลดการทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลมากเกินความจำเป็น วางแผนการออกกำลังกายที่เหมาะสมไม่หักโหมจนเกินไป รวมไปถึงการเลี่ยงกิจกรรมที่ส่งผลเสียต่อข้อเข่า ทั้งการยืนที่นานเกินไป การยกของหนัก เป็นต้น
2. บริหารเข่าและกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อ
การทำกายภาพบำบัดเพื่อบริหารเข่า เป็นวิธีที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อในบริเวณเข่าให้มีความแข็งแรงมากขึ้น เพราะแค่การเดินเฉย ๆ ควรนับว่าเป็นการใช้งานมากกว่าออกกำลังกาย คุณสามารถบริหารได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ด้วยตัวเอง หรือถ้าคุณมีอาการที่หนักเกินกว่าจะบริหารด้วยตัวเอง แพทย์อาจจะแนะนำให้ทำกายภาพบำบัดแทน เช่น การทำอัลตราซาวด์ การใช้เฝือกอ่อนพยุง เป็นต้น
3. รักษาด้วยการฉีด PRP และการทานยา
การใช้ยาเพื่อรักษาอาการข้อเข่าเสื่อม โดยส่วนใหญ่แพทย์จะเลือกจ่ายยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้ปวดลดอักเสบ ยาช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างข้อเข่า และยาสเตียรอยด์ หากรักษาด้วยยาทานไม่ได้ผล สามารถเลือกใช้วิธีฉีดเกล็ดเลือดหรือ PRP ฟื้นฟูข้อเข่าเสื่อมได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด โดยใช้เกล็ดเลือดที่สกัดจากเม็ดเลือดแดงของผู้เข้ารับการรักษาแล้วทำการฉีดเข้าไปในข้อเข่า เพื่อให้เกล็ดเลือดเข้าไปฟื้นฟูเซลล์ในบริเวณนั้นให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ ปลอดภัยและไม่เจ็บตัว สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการฉีด 2-3 ครั้ง ตามที่แพทย์แนะนำ
4. รักษาด้วยการผ่าตัดเข่า
การผ่าตัดเข่าเป็นวิธีท้าย ๆ ที่แพทย์จะแนะนำ เพราะเป็นวิธีที่เจ็บตัวและอาจต้องใช้เวลาในการพักฟื้นนาน สามารถผ่าตัดได้หลายวิธี เช่น การทำให้ผิวข้อเข่าชิดกัน, การเปลี่ยนข้อเข่า และการเปลี่ยนแนวกระดูก โดยแพทย์จะทำการประเมินจากองค์ประกอบต่าง ๆ ของผู้เข้ารับการรักษา เช่น ระดับของอาการ ประวัติความเจ็บป่วย ลักษณะการเดิน ลักษณะการเคลื่อนไหว เป็นต้น
ปวดเข่าแบบไหนที่ควรรีบพบแพทย์
สำหรับโรคข้อเข่าเสื่อมจะมีอาการปวดที่เปรียบเสมือนเป็นสัญญาณเตือน หากมีอาการปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ ยังสามารถรอดูอาการได้ และควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พร้อมกับมีการดูแลตัวเองให้ดียิ่งขึ้น โดยลักษณะอาการปวดเข่าต่อไปนี้จะต้องรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยทันที เพราะหากปล่อยทิ้งเอาไว้อาจส่งผลกระทบต่อการเดินและการทรงตัวได้
ปวดหัวเข่าร้าวลงขา งอเข่าได้ไม่สุด
หากใครที่มีอาการปวดหัวเข่าร้าวลงมาที่ขาและไม่สามารถงอเข่าได้สุด จนทำให้การเดินและการยืนเป็นไปอย่างยากลำบาก ซึ่งอาการในลักษณะนี้อาจมีอะไรติดขัดอยู่ในข้อ มีหินปูนเกาะที่ข้อเข่า หรือข้อเข่าสึก เสี่ยงต่อการยืนและเดินไม่ได้ในอนาคต
ปวดหัวเข่าและมีอาการบวมช้ำ
หากอาการปวดเข่ามีการบวม ช้ำ และรู้สึกร้อนในข้อเข่า ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนถึงอาการอักเสบในระดับที่รุนแรง ทั้งต่อตัวกระดูกและเส้นเอ็นโดยรอบ หรือมีเลือดออกในข้อเข่า โดยส่วนใหญ่จะมีอาการตัวร้อนและมีไข้ร่วมด้วย
ปวดหัวเข่ารุนแรง แม้ไม่ได้เคลื่อนไหว
หากพบว่าอยู่เฉย ๆ แล้วยังมีอาการปวดหัวเข่ารุนแรง ยิ่งเมื่อลงน้ำหนักหรือมีการเคลื่อนไหวก็จะยิ่งรู้สึกปวดเพิ่มมากขึ้น อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นอาการอักเสบที่ถูกสะสมอยู่บริเวณข้อเข่า
วิธีการถนอมข้อเข่าเพื่อป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม
- ควบคุมน้ำหนักตัว เพราะหากมีน้ำหนักตัวที่เกินกว่าเกณฑ์จะทำให้ข้อเข่ารองรับน้ำหนักมากเกินไปจนอาจทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้งานข้อเข่าหนักจนเกินไป เช่น การยกของหนัก การคุกเข่า นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบเป็นเวลานาน เพราะพฤติกรรมเหล่านี้จะส่งผลทำให้ข้อเข่าได้รับแรงกดทับสูงกว่าปกติ และมีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้เร็วขึ้น
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหักโหม เพราะจะทำให้หัวเข่ารับน้ำหนักมากหรือเกิดการยืดหดของเข่าถี่เกินไป ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้เช่นกัน
- บริหารกล้ามเนื้อต้นขาและกล้ามเนื้อรอบเข่าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยทำให้กล้ามเนื้อเกิดความแข็งแรงและลดภาระของข้อเข่า
สรุปเกี่ยวกับโรคข้อเข่าเสื่อม
ไม่ว่าใครก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมกันทั้งนั้น เพราะในแต่ละวันคนเราใช้งานข้อเข่าอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรข้อเข่าก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้คุณเดินได้ตามใจคิด และอาจมีหลายกิจกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้ข้อเข่าเสื่อมได้ก่อนเวลาอันควร ดังนั้นการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของคุณคือทางเดียวที่จะสามารถช่วยถนอมข้อเข่าให้มีสุขภาพดีไปกับคุณอย่างยาวนาน
Leave a reply
Leave a reply