เป็นตะคริวบ่อย ๆ ตอนกลางคืน เกิดจากอะไร
เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยสะดุ้งตื่นกลางดึก เพราะเป็นตะคริวตอนนอน ทำให้พักผ่อนได้ไม่เต็มที่และรู้สึกไม่สดชื่นตอนตื่นนอนได้ ซึ่งแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะมีอาการเป็นตะคริวบ่อย ๆ ในตอนกลางคืน แต่ก็ยังไม่ทราบถึงสาเหตุของการเกิดอาการนี้ รวมถึงไม่ทราบวิธีรับมือเมื่อเป็นตะคริวตอนนอน Trin Wellness ผู้นำด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย จึงจะมาแนะนำให้คุณได้ทราบเอง ใครที่เจอปัญหานี้เป็นประจำจนรบกวนการใช้ชีวิต ต้องติดตามให้จบ
ตะคริวคืออะไร
ตะคริว คือ อาการหดเกร็งที่ทำให้กล้ามเนื้อและแข็งเป็นก้อนอย่างฉับพลัน และไม่สามารถควบคุมได้ ในบางครั้งอาจมีอาการปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อมัดที่หดเกร็ง แต่จะเป็นไม่นาน และเมื่อทิ้งไว้สักพักอาการก็จะดีขึ้น
ลักษณะอาการเป็นตะคริว
ลักษณะอาการเป็นตะคริว จะมีการปวดเกร็งบริเวณกล้ามเนื้อเป็นอย่างมาก และเมื่อสัมผัสก็จะพบว่า มีก้อนเนื้อแข็งบริเวณนั้น ซึ่งโดยปกติแล้วจะสามารถหายได้เองภายในเวลา 2-15 นาที ส่วนการเป็นตะคริวตอนนอนจะเรียกว่า ตะคริวตอนกลางคืน (Nocturnal Leg Cramps) นอกจากนี้ในบางรายอาจมีอาการปวดเรื้อรังและกินเวลาเป็นวันกว่าจะหายอย่างสมบูรณ์
ตะคริวเป็นตรงไหนได้บ้าง
แม้ว่าอาการเป็นตะคริวจะพบบ่อยบริเวณขา จนหลายคนอาจจะเข้าใจว่า ตะคริวไม่สามารถเกิดขึ้นบริเวณอื่นได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตะคริวสามารถเกิดขึ้นในจุดที่มีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวได้หลายจุด ดังนี้
- ตะคริวบริเวณหน้าท้อง จากโรคที่เกิดขึ้นบริเวณท้อง หรือการออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อท้อง
- ตะคริวบริเวณหลัง เกิดจากการใช้แรงขณะก้มมากเกินไป นอกจากนี้ยังอาจเป็นสัญญาณว่ากระดูกสันหลังมีความผิดปกติได้อีกด้วย
- ตะคริวบริเวณขา เป็นตะคริวที่พบได้บ่อยที่สุด มักจะเกิดจากการออกกำลังกายที่มีการใช้กล้ามเนื้อเกินความเหมาะสม จนทำให้เกิดอาการเกร็ง
สาเหตุของการเป็นตะคริวบ่อย ๆ
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเป็นตะคริวบ่อย ๆ ตอนนอน แต่มีข้อมูลพบว่า อาจเกิดจากการที่เอ็นและกล้ามเนื้อส่วนนั้นถูกใช้งานมากเกินไป และไม่ได้ยืดตัวจนทำให้เกิดการหดรั้งหรือเกร็งได้ง่าย นอกจากนี้ยังอาจเกี่ยวข้องกับการทำงานที่ผิดปกติของเส้นประสาท และการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ดังนี้
- นอนในท่าที่ผิด หรือวางเท้าในลักษณะที่ไม่ถูกต้อง
- มีการนั่งหรือยืนในท่าเดิมเป็นเวลานาน และไม่ค่อยขยับร่างกาย
- กล้ามเนื้อทำงานหนักเกินไปจากการออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงขาหนัก
- กล้ามเนื้อขาดความยืดหยุ่น มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
- เป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็ง หรือมีภาวะหลอดเลือดตีบ ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปยังกล้ามเนื้อทำได้ไม่ดี
- มีปัญหาสุขภาพในด้านต่าง ๆ เช่น เส้นประสาททำงานผิดปกติ เส้นประสาทเสื่อมจากเบาหวาน ปลายประสาทอักเสบ โรคหัวใจ เป็นต้น
แก้ปัญหาเป็นตะคริวตอนนอนยังไงดี
สำหรับคนที่มักจะเป็นตะคริวบ่อย ๆ ตอนนอน ควรจะจัดท่านอนให้อยู่ในท่าที่ผ่อนคลาย และห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่น รวมถึงใช้หมอนรองขาให้สูงขึ้นจากเตียงประมาณ 10 เซนติเมตร และเมื่อเกิดอาการเป็นตะคริวขึ้นมาในตอนกลางคืน ให้ทำการยืดกล้ามเนื้อขา โดยการยืดขาให้ตรง กระดกปลายเท้าขึ้นค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำไปเรื่อย ๆ 5-10 ครั้ง แล้วนวดกล้ามเนื้อขาเป็นวงกลมจนกว่าจะหาย
สรุปเรื่องเป็นตะคริวตอนนอน
แม้ว่าอาการเป็นตะคริวบ่อย ๆ จะไม่ได้มีอันตรายต่อชีวิต แต่ก็เป็นอาการที่สามารถสร้างความเจ็บปวดและความรำคาญใจให้กับผู้ที่เป็นได้มากพอสมควร นอกจากนี้ หากเป็นตะคริวตอนนอน ก็จะรบกวนการนอนและทำให้เกิดการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอได้ ทั้งนี้ก่อนจะเข้านอนก็อย่าลืมดื่มนมที่มีแคลเซียมสูง และนอนยกขาให้สูงขึ้นจากเตียง พร้อมฝึกยืดกล้ามเนื้อขาก่อนเข้านอนเป็นประจำ เพื่อลดความถี่ในการเกิดอาการตะคริวกินตอนนอน
Leave a reply
Leave a reply