รู้ทันมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคร้ายที่ผู้ชายทุกคนควรระวัง
มะเร็งคือโรคที่เกิดขึ้นจากเซลล์ในอวัยวะที่มีความผิดปกติและสามารถลุกลามได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และแน่นอนว่ามะเร็งสามารถเกิดขึ้นได้เกือบทุกส่วนของร่างกาย โดยหนึ่งในโรคมะเร็งที่พบในชายไทยเป็นส่วนใหญ่อย่าง “มะเร็งต่อมลูกหมาก” ก็นับว่ามีความกลัวไม่แพ้มะเร็งชนิดอื่น ๆ เพราะลักษณะความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และไม่ค่อยมีอาการอะไรที่บ่งชี้ได้ชัดเจนมากนัก จนคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นตามวัยแต่ความจริงแล้วบางคนอาจมีเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่วัยหนุ่มเลยก็ได้เช่นกัน วันนี้ Trin Wellness จะมาให้อธิบายว่ามะเร็งต่อมลูกหมากนั้นแท้จริงแล้วเกิดขึ้นอย่างไร ใครบ้างที่เสี่ยง และมีแนวทางรักษาอย่างไร?
มะเร็งต่อมลูกหมากคืออะไร
มะเร็งต่อมลูกหมาก คือ การที่เซลล์จากบริเวณต่อมลูกหมากเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติ และมีการเจริญเติบโตหรือการแบ่งเซลล์ตัวเองออกไปอย่างรวดเร็ว จนส่งผลกระทบหลายอย่างทั้งการอุดตันของท่อปัสสาวะ การทำลายเซลล์ปกติจากเซลล์มะเร็ง มากไปกว่านั้นเซลล์มะเร็งร้ายเหล่านี้ยังสามารถลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น กระดูก ปอด ตับ ไต เป็นต้น ซึ่งจะทำให้อวัยวะที่ถูกลุกลามเหล่านี้เสียหายตามไปด้วย
โดยบริเวณของต่อมลูกหมากนั้นจะอยู่ในส่วนลึกของโคนอวัยวะเพศตรงอุ้งเชิงกราน เป็นต่อมไร้ท่อที่มีความสำคัญต่อ ระบบสืบพันธุ์ของผู้ชาย คอยทำหน้าที่หล่อเลี้ยงอสุจิ และปกป้อง DNA ที่อยู่ในอสุจิให้ปลอดภัยในอุณหภูมิที่พอเหมาะ ต่อมลูกหมากสามารถโตขึ้นได้ตามวัย และในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไปส่วนมากจะเสี่ยงต่อภาวะต่อมลูกหมากโต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อท่อทางเดินปัสสาวะโดยตรง หากปล่อยไว้อาจจะทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายและอาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากอีกด้วย
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ชายวัย 50 ปีขึ้นไปควรได้รับการตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากหรือ PSA
- ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวที่เคยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก คนกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงสูงที่สุด
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากและขาดการออกกำลังกายเป็นเวลานาน
- ผู้ที่ทานอาหารประเภทไขมัน อาหารที่ให้พลังงานสูง และเนื้อสัตว์เป็นส่วนใหญ่
สัญญาณเตือนมะเร็งต่อมลูกหมาก
อย่างที่ได้กล่าวไปว่ามะเร็งต่อมลูกหมากจะไม่ค่อยแสดงอาการอะไรในช่วงที่แรกทำให้คนส่วนใหญ่มักชะล่าใจ โดยผู้ชายทุกคนสามารถเช็กได้ด้วยสัญญาณต่าง ๆ ดังนี้
- ปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อย ๆ
- รู้สึกปวดในระหว่างปัสสาวะและการหลั่งเมื่อใกล้ถึงจุดสุดยอด
- ปัสสาวะไม่พุ่งเหมือนปกติและอาจปัสสาวะไม่หมด
- มีเลือดปนตอนปัสสาวะ
- อวัยวะเพศไม่ค่อยแข็งตัวเหมือนเคย
วิธีตรวจและการวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- ตรวจเบื้องต้นด้วยการคลำต่อมลูกหมาก โดยแพทย์จะใช้นิ้วสอดเข้าไปทางทวารหนักเพื่อหาก้อนมะเร็ง พร้อมกับประเมินขนาด รูปร่าง และความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก
- ตรวจหาสาร PSA (Prostatic-Specific Antigen) หรือสารบ่งชี้มะเร็งในเลือด หากพบว่ามีค่าอยู่ในระดับ 0-4 ng/ml ควรตรวจเป็นประจำทุกปี และถ้าพบค่าเกินกว่านั้นควรได้รับการตรวจอย่างละเอียดตามคำแนะนำของแพทย์
- การตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยอัลตราซาวด์ (Trans-rectal Ultrasound of the Prostate: TRUS) โดยใช้เครื่องตรวจสอดเข้าทางทวารหนัก เพื่อประเมินลักษณะของต่อมลูกหมาก
- ตรวจจากชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก (Biopsy) โดยแพทย์จะส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อพิสูจน์ว่ามีเซลล์มะเร็งหรือไม่
ระยะของมะเร็งต่อมลูกหมาก
ระยะในการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากสามารถแบ่งได้ทั้งหมด 4 ระยะดังนี้
- ระยะที่ 1 เป็นระยะเริ่มต้นที่ยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง พบเฉพาะในต่อมลูกหมากเท่านั้น
- ระยะที่ 2 เป็นระยะที่ยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเช่นกัน แต่ก้อนจะมีขนาดใหญ่ขึ้น
- ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งเริ่มแพร่กระจายออกมาที่ผิวด้านนอกของต่อมลูกหมาก และอาจลุกลามไปยังท่อน้ำเชื้อ
- ระยะที่ 4 เป็นระยะที่อันตรายที่สุดมีการกระจายไปยังกระดูกและต่อมน้ำเหลือง
แนวทางการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในปัจจุบัน
ในปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากสามารถทำได้หลากหลายวิธีด้วยกัน แต่จะมีวิธีหลัก ๆ ที่แพทย์ส่วนใหญ่แนะนำโดยมีทั้งหมด 3 แนวทางดังนี้
- รักษาด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัดนั้นเป็นวิธีที่สามารถตัดแหล่งกำเนิดของมะเร็งได้อย่างตรงจุดมากที่สุด แต่สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้เลยก็คือเรื่องของอาการเจ็บปวดหลังผ่าตัด จึงจำเป็นต้องมีการพักฟื้นที่ค่อนข้างนาน โดยมีการผ่าในตำแหน่งดังนี้- ผ่าตัดเปิดหน้าท้อง เป็นวิธีการผ่าเพื่อเอาต่อมลูกหมาก และส่วนอื่น ๆ ที่มีการลุกลามของเซลล์มะเร็ง เช่น ท่อน้ำเชื้อและถุงพักน้ำเชื้อออกทั้งหมด เพื่อยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งไปยังส่วนต่าง ๆ โดยในปัจจุบันได้มีการผ่านตัดด้วยการใช้กล้องและหุ่นยนต์ ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น ใช้เวลาพักฟื้นน้อยลง
- ผ่าตัดที่ถุงอัณฑะ เป็นการลดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (ฮอร์โมนเพศชาย) ด้วยการตัดลูกอัณฑะออกแบบถาวร เป็นวิธีที่มีความเสี่ยงต่ำเห็นผลจริง แต่อาจเป็นทางเลือกที่อาจส่งผลต่อความมั่นใจของผู้เข้ารับการรักษา
- รักษาด้วยวิธีรังสีบำบัด
เป็นการฉายรังสีและฝังแร่ลงในต่อมลูกหมาก เพื่อช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง เป็นวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัดและมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับวิธีผ่าตัดหน้าท้อง แต่ข้อเสียคืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ต้องใช้ยาฮอร์โมนร่วมด้วย - รักษาด้วยวิธีฮอร์โมนบำบัด
สุดท้ายเป็นวิธีรักษาด้วยการฉีดฮอร์โมนเข้าไปเพื่อช่วยยับยั้งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองไม่ให้ไปกระตุ้นการทำงานของอัณฑะ เป็นแนวทางที่ใช้รักษาต่อเนื่องหลังจากรักษาด้วยวิธีผ่าตัดหน้าท้องสำหรับกรณีที่เซลล์มะเร็งยังคงแพร่กระจายอยู่ โดยผู้ป่วยจะต้องฉีดทุก ๆ 3 เดือนจนกว่าจะเห็นผลจริง
สรุปเกี่ยวกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
ถึงแม้ว่ามะเร็งต่อมลูกหมากจะเป็นโรคที่ร้ายรางและส่งผลกระทบต่อร่างกายเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจหาความเสี่ยงตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องให้ถึงอายุ 50 ปี ก็สามารถเข้ารับการตรวจได้เลย เพื่อให้คุณสามารถวางแผนการดูแลตัวเองและการรับมือเมื่อพบเจอความเสี่ยง หากคุณพบอาการผิดปกติหรือไม่มั่นใจว่าอาการที่พบเป็นปัญหาต่อตัวคุณหรือไม่ แนะนำให้ปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเด่นเพื่อให้คุณได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม สามารถรักษาให้หายขาดได้อย่างปลอดภัย
Leave a reply
Leave a reply