ไขข้อสงสัย มึนหัวแบบไหนเข้าข่ายอาการบ้านหมุน
อาการมึนหัว เวียนศีรษะ เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งหลายคนมักชะล่าใจและคิดว่าไม่ได้เป็นอะไรมาก ทั้งที่จริง ๆ แล้วอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของอาการบ้านหมุน รวมถึงโรค หรือภาวะผิดปกติต่าง ๆ ได้ และในบางครั้งก็อาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อร่างกายอีกด้วย
สำหรับใครที่มีอาการมึนหัวบ่อย ๆ แล้วสงสัยว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นอาการบ้านหมุนหรือเปล่า? ในบทความนี้ ดร. ตฤณ เวลเนส คลินิก จะพาคุณไปรู้จักกับอาการบ้านหมุนอย่างละเอียด ทั้งลักษณะอาการ วิธีการรักษา และการป้องกัน จะน่าสนใจแค่ไหน ไปดูกันเลย!
อาการบ้านหมุนคืออะไร?
อาการบ้านหมุน (Vertigo) คือ อาการที่เรารู้สึกโคลงเคลง สิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุน ตนเองกำลังหมุน หรือกำลังเคลื่อนที่ ทั้งที่ยืนอยู่กับที่ ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวเลย โดยบางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ เหงื่อออก หรือมีเสียงในหูร่วมด้วย
เมื่อเกิดอาการบ้านหมุนแล้ว จะต้องให้ความสำคัญกับการรักษาอย่างมาก เพราะอาการบ้านหมุนจะทำให้สูญเสียการทรงตัว และนำไปสู่การล้ม หรือเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ จนทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อร่างกายได้
อาการบ้านหมุนแตกต่างจากการอาการมึนหัวอย่างไร?
เราสามารถแยกอาการบ้านหมุนกับอาการมึนหัวออกจากกันได้ง่าย ๆ โดยอาการบ้านหมุนจะเกิดขึ้นในขณะที่เรายืนอยู่กับที่และไม่ได้มีการเคลื่อนไหวเลย และมีลักษณะอาการเด่น ๆ คือ รู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัว หรือร่างกายหมุนอยู่จนทำให้ทรงตัวไม่ได้
ในขณะที่อาการมึนหัวจะสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในขณะที่นั่ง ยืน หรือเดิน โดยจะมีอาการตั้งแต่มึนศีรษะ สมองตื้อ งุนงง ไม่แจ่มใส โคลงเคลง รู้สึกหวิว ๆ โหวง ๆ ไปจนถึงทรงตัวได้ไม่ค่อยดีเลย ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัน ไม่จำเพาะกับโรคใดโรคหนึ่ง
โรคและภาวะต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการบ้านหมุน
โรค และภาวะต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการบ้านหมุนได้ มีดังนี้
- โรคทางหู เช่น โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน โรคเนื้องอกของเส้นประสาทหู หูชั้นในอักเสบ ความดันน้ำในหูชั้นในผิดปกติ หรือ ประสาทการทรงตัวในหูชั้นในอักเสบ
- โรคทางสมองและระบบประสาท เช่น โรคระบบประสาทส่วนกลาง ความเสื่อมของระบบประสาทส่วนกลาง หรือการติดเชื้อที่ระบบประสาท
- โรคที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคโลหิตจาง หรือโรคความดันโลหิตสูง
- โรคอื่น ๆ เช่น โรคไต โรคภูมิแพ้ ภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ โรคเบาหวาน โรคกระดูกต้นคอเสื่อม โรคหลอดเลือดตีบจากไขมันในเลือดสูง หรือโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ
จะเห็นได้ว่า อาการบ้านหมุนสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุมาก เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการร้ายแรงจนเป็นอันตรายได้
เมื่อเกิดอาการบ้านหมุนแล้วจะต้องทำอย่างไร?
เมื่อเกิดอาการบ้านหมุนขึ้นแล้ว ให้ผู้ป่วยนอนบนพื้นราบ และพยายามมองจุดใดจุดหนึ่งนิ่ง ๆ ไว้ หลีกเลี่ยงการยืน หรือนั่ง เพราะอาจทำให้เกิดการล้มได้ หลังจากนั้นถ้ามีประวัติโรคที่เกี่ยวข้องกับหูชั้นใน เช่น โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน ให้รับประทานยาประจำตัวก่อน
อย่างไรก็ตาม ถ้าหลังจากรับประทานยาประจำตัวแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น กลืนลำบาก พูดไม่ชัด เสียงแหบ แขน หรือขาอ่อนแรง หรือรู้สึกชา ให้รีบนำตัวผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลทันที
แนวทางการรักษาอาการบ้านหมุน โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย และซักประวัติสุขภาพต่าง ๆ กัน เพื่อค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการบ้านหมุน หลังจากนั้นจึงค่อยวางการรักษาอย่างเหมาะสม โดยแนวทางการรักษาอาการบ้านหมุน จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้
- รักษาตามสาเหตุของโรค เช่น ถ้าเกิดจากโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน แพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง แต่ถ้าเกิดจากโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด ก็จะแนะนำให้ทำกายภาพบำบัด
- รักษาตามอาการ โดยแพทย์จะจ่ายยาที่ช่วยบรรเทาอาการมึนหัว คลื่นไส้ และอาเจียน
- บริหารการทรงตัว โดยเมื่ออาการเวียนหัวน้อยลงแล้ว แพทย์จะแนะนำให้บริหารระบบการทรงตัว เช่น การฝึกบริหารสายตา ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอ แขน และขา ฝึกการเคลื่อนไหวของศีรษะ และคอ รวมไปถึงการเดิน และยืนด้วย เพื่อช่วยให้ระบบประสาททรงตัวกลับมาสมดุลอีกครั้ง
วิธีป้องกันอาการบ้านหมุน
แม้ว่าอาการบ้านหมุนจะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่เราก็สามารถป้องกันได้ โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดโรค และดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เช่น
- พยายามไม่เครียด หรือวิตกกังวลมากเกินไป
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการบริหารระบบประสาททรงตัว
- หลีกเลี่ยงที่ที่มีเสียงดัง หรือทำให้เกิดการกระทบกระเทือนบริเวณหู
สรุปเรื่องอาการบ้านหมุน
เป็นอย่างไรกันบ้างกับข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับอาการบ้านหมุนที่ ดร. ตฤณ เวลเนส คลินิก นำมาฝากในบทความนี้ จะเห็นได้ว่า อาการบ้านหมุนแตกต่างจากอาการมึนหัวทั่วไป และอาจเป็นอันตรายมากกว่าที่คิด
ดังนั้นใครที่มีอาการมึนหัวที่เข้าข่ายอาการบ้านหมุน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ก็ควรที่จะรีบไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อตรวจหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอาการล้ม หรืออุบัติเหตุต่าง ๆ จนทำให้เกิดการบาดเจ็บได้
Leave a reply
Leave a reply